การสื่อสารภายในองค์กร


การสื่อสารภายในองค์กรเป็นการสื่อสารที่ใช้ทักษะการสื่อสารเชิงวัจนะ (verbal communication) หรือการสื่อสารด้วยภาษาพูดและภาษาเขียน กับการสื่อสารเชิงอวัจนะ (nonverbal communication) เช่น การใช้สัญลักษณ์ การแสดงท่าทาง ระดับเสียงที่ใช้ การสัมผัส การจัดระยะ เสื้อผ้า และเรื่องของเวลา ซึ่งเป็นการติดต่อระหว่างบุคคลในองค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นทางการ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ นโยบาย มีการจัดองค์กร มีการแบ่งงานกันทำ เพื่อปฏิบัติภารกิจขององค์กรหรือหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมาย เพิ่มความสำเร็จในอาชีพโดยอาศัยการสื่อสารเพื่อสร้างคุณธรรม เพิ่มการผลิต และสิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อองค์กร

การสื่อสารภายในองค์กรมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารองค์กร ช่วยสร้างความเข้าใจและสร้างวัฒนธรรม ตลอดจนสามารถสร้างความมั่นคงให้กับองค์กร การบริหารงานจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่งเกิดจากการสื่อสารภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการสื่อสารภายในองค์กรจะช่วยให้สามารถนำข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาประกอบการตัดสินใจ หรือดำเนินการใด ๆ ในการบริหารงานและการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมให้องค์กรนั้น ๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผล โดยสมาชิกจะต้องเข้าใจและเข้าถึงกระบวนการสื่อสารเป็นอย่างดี

สื่อสารภายในองค์กรมีลักษณะเป็นเครือข่ายและเกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงาน การสัมภาษณ์ โครงสร้างขององค์กร ภาวะผู้นำและการตัดสินใจ วัฒนธรรมองค์กร เป็นสิ่งที่สมาชิกขององค์กรต้องเข้าใจและถือปฏิบัติร่วมกัน เนื่องจากในการจัดองค์กรนั้น มีการแบ่งสายงานและลำดับชั้นของความรับผิดชอบและการบังคับบัญชา ดังนั้นลักษณะของการสื่อสารภายในองค์กรจึงจำเป็นต้องจัดให้สอดคล้องกับโครงสร้างขององค์กรด้วยและเมื่อใดก็ตามที่การสื่อสารภายในองค์กรมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงทุก ๆ หน่วยขององค์กรให้เข้ากันได้ด้วยดี มีทิศทางการสื่อสารที่ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ขององค์กร พร้อม ๆ กับมีการถ่ายทอดอัตลักษณ์องค์กรเป็นเอกภาพอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดคุณค่า 2 ประการ 1) พนักงานเข้าใจและตระหนักในทิศทางขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความรู้สึกในองค์กรที่ตนร่วมงานอยู่ เนื่องจากสามารถสัมผัสได้ถึงตัวตนหรืออัตลักษณ์ที่สง่างามและมีคุณค่าขององค์กร ซึ่งได้รับการถ่ายทอดอย่างเป็นระบบผ่านสื่อ กิจกรรม และวัฒนธรรมองค์กรที่ฝ่ายบริหารสร้างขึ้น 2) พนักงานเกิดความรู้สึกผูกพันและมีส่วนร่วมกับองค์กร (engagement) พร้อมให้ความร่วมมือกับการดำเนินงานขององค์กรเสมอ

การสื่อสารส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคล สามารถเปลี่ยนวิธีที่บุคคลรับรู้สภาพแวดล้อมของเขาและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การสื่อสารภายในองค์กรเกิดขึ้นภายในระบบสังคมที่ซับซ้อนและพึ่งพาอาศัยกัน เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ภายใน และระหว่างกลุ่มทั่วทั้งองค์กร กระบวนการสื่อสารภายในองค์กรมีความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุด ผู้ส่งสารจะสร้างสารซึ่งอาจเป็นคำพูด การเขียน หรืออวัจนภาษา ข้อความเกี่ยวข้องกับงานที่ต้องทำ การรักษานโยบายองค์กร หรือข้อมูลเกี่ยวกับสถานะขององค์กรไปสู่บุคคลภายในและภายนอกองค์กร ผู้บริหารในฐานะตัวแทนด้านการสื่อสารจะทำการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญจากทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร แล้วแจกจ่ายข้อมูลที่เหมาะสมให้กับพนักงาน การสื่อสารของผู้บริหารมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำความสนใจของทุกคนไปสู่วิสัยทัศน์ เป้าหมายที่ต้องการขององค์กร และจูงใจให้พนักงานดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย การสื่อสารแทรกซึมอยู่ในทุกหน้าที่ของการจัดการ และทักษะการสื่อสารถือเป็นพื้นฐานของทุกกิจกรรมการจัดการภายในองค์กร

รายการอ้างอิง

กัลยารัตน์ ธีระธนชัยกุล. (2562). พฤติกรรมองค์กรและการพัฒนาองค์กร. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.

กาญจนา มีศิลปวิกกัย. (2557). ความรู้เบื้องต้นและทฤษฎีการสื่อสาร (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

ชินีเพ็ญ มะลิสุวรรณ. (2561). หลักนิเทศศาสตร์. ยะลา: คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา.

พิริยา ศิริวรรณ. (2559). การสื่อสารภายในองค์กร (คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล) เรื่องที่ไม่อาจมองข้าม. เวชบันทึกศิริราช, 9(1), หน้า 38-43.

รุ่งรัตน์ ชัยสำเร็จ.  (2558). การสื่อสารองค์กร แนวคิดการสร้างชื่อเสียงอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Champoux, J. E. (2020). Organizational behavior: integrating individuals, groups, and organizations (6th Edition).  New York: Routledge.

Daft, R. L. & Marcic, D. (2013). Management: the new workplace (8th Edition). Australia: South-Western, Cengage Learning.

on Freevisitorcounters.com