ความเป็นมา


เมื่อ พ.ศ. 2534 รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญแข วัจนสุนทร ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (ช่วงเวลาในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2538) ได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ขึ้นมา โดยมีปรัชญาทางการศึกษาในการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีความรอบรู้ในวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ และสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและชุมชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คณะฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ และคณะกรรมการร่างหลักสูตรมาเป็นลำดับ

ในปี พ.ศ. 2537 คณะฯ ได้นำเสนอหลักสูตรสาขาวิชานิเทศศาสตร์ขึ้นมา ประกอบด้วย 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาการประชาสัมพันธ์ และ สาขาวาทวิทยา และได้รับความเห็นชอบอนุมัติหลักสูตรฯ จากสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 และจากทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2539 รวมทั้งได้นำเสนอโครงการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ต่อสภามหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2539 ในสมัยรองศาสตราจารย์ ทัศนีย์ ทานตวณิช เป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (ช่วงเวลาในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2542)

ในปีการศึกษา 2540 โครงการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ได้ดำเนินการเปิดรับนิสิตเข้าศึกษาในหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ เป็นรุ่นแรก และมีรองศาสตราจารย์ ทัศนีย์ ทานตวณิช คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นรักษาการประธานโครงการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ และเพื่อให้บุคลากรและทรัพยากรของภาคฯ ที่มีอยู่ได้ใช้เต็มศักยภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ หรือประกอบอาชีพทางด้านนิเทศศาสตร์แต่ขาดวุฒิการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ได้เข้าศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ใน ปี พ.ศ. 2542 เปิดรับบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าศึกษาต่อหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ภาคพิเศษ

ต่อมา จำนวนคณาจารย์ในภาควิชาฯ เพิ่มมากขึ้น อาจารย์สำเร็จการศึกษามาจากหลากหลายสาขา ภาค ฯ จึงได้พัฒนาหลักสูตรทางด้านนิเทศศาสตร์ให้มีความหลากหลายมากขึ้นตามความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2545 มี 5 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ สาขาการประชาสัมพันธ์ สาขาวาทวิทยา สาขาการโฆษณา สาขาวารสารศาสตร์ และสาขาการสื่อสารมวลชน (หมายเหตุ : สาขาการสื่อสารมวลชนไม่ได้เปิดดำเนินการ) นอกจากนี้ภาควิชายังได้เปิดโอกาสให้นิสิตสาขาอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาความรู้เพิ่มเติมทางนิเทศศาสตร์ด้วยการเปิดหลักสูตรวิชาโทนิเทศศาสตร์จำนวน 2 สาขาด้วยกัน ได้แก่ สาขาวาทวิทยา (พัฒนามาจากสาขาวาทการของภาควิชาภาษาไทย) และสาขาการประชาสัมพันธ์ ตามลำดับ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โครงการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์นั้นได้รับอนุมัติให้เป็นภาควิชานิเทศศาสตร์อย่างเป็นทางการ และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2549 ต่อมา ระหว่างดำเนินการสอน คณาจารย์ในภาคฯ ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในศาสตร์บางสาขาวิชา และความสนใจของนิสิตในศาสตร์ด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ จึงได้มีการพัฒนาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุงในปี พ.ศ. 2554 ให้ประกอบด้วย 5 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ สาขาการประชาสัมพันธ์ สาขาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง สาขาการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด สาขาวารสารศาสตร์ และสาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ ในระหว่างรอบของการพัฒนาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง ใน พ.ศ. 2559 ผู้สอนนิเทศศาสตร์ทุกๆ มหาวิทยาลัย ต่างพบว่า เนื้อหาการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็วเนื่องจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบดิจิทัลอันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในมิติต่างๆ รวมทั้งการทำงานด้านสื่อสารมวลชนในอุตสาหกรรมสื่อประเภทต่างๆ คุณลักษณะของบัณฑิตด้านนิเทศศาสตร์ในตลาดแรงงานเปลี่ยนไป องค์กรต่างๆ ต้องการบัณฑิตที่มีความเป็นมืออาชีพ มีทักษะในการผลิตสารและวางแผนการใช้เครื่องมือการสื่อสารแบบออนไลน์และออฟไลน์ได้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ในสังคม และภายใต้เงื่อนไขของจำนวนการรับนิสิตของหลักสูตรตามเกณฑ์คุณภาพของ สกอ. ส่งผลให้ภาควิชาฯ เปลี่ยนแปลงจำนวนสาขาวิชาจากเดิมมี 5 สาขา เป็น 3 สาขา ได้แก่

๐ สาขาวิชาสื่อสารตราสินค้า ๐ สาขาวิชาสื่อสารองค์กร ๐ สาขาวิชาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์

on Freevisitorcounters.com