เมื่อ พ.ศ. 2534 รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญแข วัจนสุนทร ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (ช่วงเวลาในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2538) ได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ขึ้นมา โดยมีปรัชญาทางการศึกษาในการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีความรอบรู้ในวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ และสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและชุมชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คณะฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ และคณะกรรมการร่างหลักสูตรมาเป็นลำดับ
ในปี พ.ศ. 2537 คณะฯ ได้นำเสนอหลักสูตรสาขาวิชานิเทศศาสตร์ขึ้นมา ประกอบด้วย 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาการประชาสัมพันธ์ และ สาขาวาทวิทยา และได้รับความเห็นชอบอนุมัติหลักสูตรฯ จากสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 และจากทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2539 รวมทั้งได้นำเสนอโครงการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ต่อสภามหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2539 ในสมัยรองศาสตราจารย์ ทัศนีย์ ทานตวณิช เป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (ช่วงเวลาในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2542)
ในปีการศึกษา 2540 โครงการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ได้ดำเนินการเปิดรับนิสิตเข้าศึกษาในหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ เป็นรุ่นแรก และมีรองศาสตราจารย์ ทัศนีย์ ทานตวณิช คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นรักษาการประธานโครงการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์ และเพื่อให้บุคลากรและทรัพยากรของภาคฯ ที่มีอยู่ได้ใช้เต็มศักยภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ หรือประกอบอาชีพทางด้านนิเทศศาสตร์แต่ขาดวุฒิการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ได้เข้าศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ใน ปี พ.ศ. 2542 เปิดรับบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าศึกษาต่อหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ภาคพิเศษ
ต่อมา จำนวนคณาจารย์ในภาควิชาฯ เพิ่มมากขึ้น อาจารย์สำเร็จการศึกษามาจากหลากหลายสาขา ภาค ฯ จึงได้พัฒนาหลักสูตรทางด้านนิเทศศาสตร์ให้มีความหลากหลายมากขึ้นตามความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2545 มี 5 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ สาขาการประชาสัมพันธ์ สาขาวาทวิทยา สาขาการโฆษณา สาขาวารสารศาสตร์ และสาขาการสื่อสารมวลชน (หมายเหตุ : สาขาการสื่อสารมวลชนไม่ได้เปิดดำเนินการ) นอกจากนี้ภาควิชายังได้เปิดโอกาสให้นิสิตสาขาอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาความรู้เพิ่มเติมทางนิเทศศาสตร์ด้วยการเปิดหลักสูตรวิชาโทนิเทศศาสตร์จำนวน 2 สาขาด้วยกัน ได้แก่ สาขาวาทวิทยา (พัฒนามาจากสาขาวาทการของภาควิชาภาษาไทย) และสาขาการประชาสัมพันธ์ ตามลำดับ
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โครงการจัดตั้งภาควิชานิเทศศาสตร์นั้นได้รับอนุมัติให้เป็นภาควิชานิเทศศาสตร์อย่างเป็นทางการ และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2549 ต่อมา ระหว่างดำเนินการสอน คณาจารย์ในภาคฯ ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในศาสตร์บางสาขาวิชา และความสนใจของนิสิตในศาสตร์ด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ จึงได้มีการพัฒนาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุงในปี พ.ศ. 2554 ให้ประกอบด้วย 5 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ สาขาการประชาสัมพันธ์ สาขาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง สาขาการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด สาขาวารสารศาสตร์ และสาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ ต่อมา หลักสูตรปรับปรุง ใน พ.ศ. 2559 มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสาขาวิชาจากเดิมมี 5 สาขา เป็น 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาสื่อสารตราสินค้า สาขาวิชาสื่อสารองค์กร และสาขาวิชาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปในเวลานั้น
ในปี 2564 การเข้ามาของเทคโนโลยีสื่อดิจิทัลมีผลกระทบต่อสังคมในภาคส่วนต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสื่อและองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วยเสียมีค่านิยมที่เปลี่ยนไป หลักสูตรปรับปรุงในปี 2564 จึงถูกปรับให้ทันต่อสถานการณ์ อุตสาหกรรมสื่อและสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง โดยปรับให้มีจำนวนหน่วยกิตน้อยลง สอดรับกับโลกยุคปัจจุบันที่ต้องการให้นิสิตได้มีเวลาเรียนรู้ด้วยตนเองและฝึกปฏิบัติจริงมากขึ้น เข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น ไม่ได้แยกสาขาวิชา เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสเรียนรู้ได้หลากหลาย และมีการปรับลดหมวดวิชาเฉพาะ โดยเพิ่มรายวิชาโครงการปฏิบัติและเปลี่ยนจากการฝึกงานเป็นสหกิจศึกษา นอกจากอาจารย์ประจำที่เชี่ยวชาญแล้วยังมีการเชิญวิทยากรที่มีความชำนาญทางด้านวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรยายและให้คำแนะนำในหลากหลายรายวิชา มีการประชุมประเมินผลการศึกษาของนิสิตในแต่ละภาคเรียน เพื่อร่วมกันแก้ไขและพัฒนาแผนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ
โดยบัณฑิตที่สำเร็จด้านนิเทศศาสตร์ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ มีความเป็นมืออาชีพที่มีความครบถ้วนในด้านความรู้ ทฤษฎี และทักษะการปฏิบัติในฐานะสื่อมวลชน มีความเข้าใจและมีภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในโลกอินเทอร์เน็ต บัณฑิตรู้จักและมีทักษะในการใช้เครื่องมือการสื่อสารใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เพื่อจะได้เลือกใช้ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ให้กับผู้รับสาร เข้าใจบริบทและในเชิงลึกของสิ่งที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน เช่น ข้อมูล เทคโนโลยี รูปแบบของธุรกิจ อีกทั้งสามารถประยุกต์รู้จักวิธีคิด วิธีการทำงาน ผ่านประสบการณ์จากโครงการจริง โดยเรียนรู้ความสำเร็จและถอดบทเรียนจากความล้มเหลวได้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกทักษะด้าน Soft Skill เช่น การคิดแบบมีวิจารณญาณ การนำเสนอ การทำงานร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย