สื่อดิจิทัลกับนิเทศศาสตร์


หากกล่าวถึงนิเทศศาสตร์ ใครหลายคนอาจนึกถึงการเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ การเป็นดารา พิธีกร หรือโฆษณา ซึ่งความจริงแล้วนิเทศศาสตร์ลึกซึ้งและมีอะไรมากกว่านั้น นั่นคือ ศาสตร์แห่งการสื่อสาร การสื่อสารที่ไม่ใช่เพียงผลิตสื่อแล้วนำไปเผยแพร่ แต่ต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ในทุกขั้นตอน ว่าจะสื่อสารเรื่องอะไร ในรูปแบบไหน สื่อสารกับใคร สื่อสารไปทำไม สื่อสารแล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือประโยชน์อะไรได้บ้าง ด้วยเหตุนี้นิเทศศาสตร์จึงต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันยุคทันสมัยอยู่ตลอด

ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โลกอันกว้างใหญ่ของเรากลับถูกย่อให้เล็กลงด้วยเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะสื่ออันทรงอิทธิพลอย่างสื่อดิจิทัล หรือสื่อใหม่ ซึ่งเข้ามามีบทบาทกับคนแทบทุกเพศ ทุกวัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการทำงาน สื่อดิจิทัลจึงมีส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยเสริมกระบวนการเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลอันหลากหลาย ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และความต้องการของผู้คนตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น นิเทศศาสตร์ จึงเป็นหนึ่งในแขนงวิชาที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น สาขาวิชาด้านวารสารศาสตร์ ในยุคของสื่อดั้งเดิม (สื่อเก่า) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นสื่อมวลชนที่เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร เป็นการสื่อสารทางเดียวที่กว่าจะได้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ข่าวก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร ต่างกับในปัจจุบันที่สื่อดิจิทัล (สื่อใหม่) เข้ามาลดอำนาจของสื่อเก่า และกระจายอำนาจนั้นไปยังผู้รับสารมากขึ้น กระทั่งตัวผู้รับสารเองสามารถกลายเป็นผู้ส่งสารได้ สิ่งเหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านช่องทางการรับสื่อ พฤติกรรมการเปิดรับสื่อ และการตอบสนองของผู้บริโภคซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

สื่อเก่ากำลังถูกกาลเวลาทำให้บทบาทลดน้อยลงไป ทิ้งไว้เป็นเพียงสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟู อย่างผลการศึกษาจากรายงาน ‘ภูมิทัศน์สื่อในประเทศไทย และสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคความปกติใหม่’ (WHAT’S NEXT IN THE NEW NORMAL) ของ “นีลเส็น” (Nielsen) ชี้ให้เห็นว่าสื่อดิจิทัลมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น โดยสื่อประเภท สื่อเสียง ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งการเข้ามาของสื่อดิจิทัลทำให้ไม่มีใครถือวิทยุเดินไปเดินมาเพื่อเปิดฟังเนื้อหาประเภทต่างๆ อีกต่อไปแล้ว แต่ถูกแทนที่ด้วย ‘พอสแคสต์’ ที่มาในรูปแบบของการสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ สามารถฟังผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลายตามความสะดวก อาทิ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้เอง นำไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ในแวดวงนิเทศศาสตร์ ซึ่งถูกกดดันให้รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ในขณะที่นิเทศศาสตร์ต้องก้าวไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน เพื่อการสื่อสารที่ทรงพลังและตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

รายการอ้างอิง

Lupang. (2563). พฤติกรรมเสพ ‘สื่อ’ ของคนไทยเปลี่ยน ส่งผลอย่างไรต่อวงการโฆษณาและนักการตลาด. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เข้าถึงได้จาก https://www.marketingoops.com/reports/covid-19-effect-media-industry/

นีลสัน (Nielsen). (2563). ‘WHAT’s NEXT IN THE NEW NORMAL’ หรือ “ภูมิทัศน์สื่อในประเทศไทย และสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคความปกติใหม่”. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เข้าถึงได้จาก https://www.stock-addict.com/56-1/NBC/BUSINESS_20210331.PDF

on Freevisitorcounters.com