โครงการเตรียมความพร้อมในการทำงานให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 4
ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ได้จัด “โครงการเตรียมความพร้อมในการทำงานให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 4”
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุม QS2-709
โดยมีวิทยากร คือ อาจารย์ ดร.อภิรักษ์ ชัยปัญหา (อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา)
– หลักการและเหตุผลในการจัดโครงการ –
บุคลิกภาพเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ ขยายความให้ชัดขึ้นได้ว่า บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลในด้านต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวโยงทั้งภายนอกและภายใน กล่าวคือ บุคลิกภาพภายนอก ได้แก่ การแต่งกาย การพูด อากัปกิริยา การแสดงออกทางสีหน้าและแววตา ส่วนบุคลิกภาพภายใน ได้แก่ การตระหนักรู้ในตนเอง ความภาคภูมิใจในตนเอง การมีวินัยในตนเอง การตั้งเป้าหมาย และการกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี แม้บุคลิกภาพจะสามารถจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะ แต่ก็ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ในทางตรงกันข้าม ลักษณะต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันเสมอ
อนึ่ง บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การเรียน การทำงาน รวมทั้งช่วยให้บุคคลนั้นสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างถูกต้อง ไม่ต่อต้านหรือยอมรับสิ่งต่าง ๆ โดยไร้เหตุผล ในด้านการสมัครงาน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าบุคลิกภาพที่ดีคือสิ่งหนึ่งที่ผู้สมัครงานควรตระหนัก เพราะนอกเหนือจากความรู้ ความสามารถที่พร้อมแล้ว เกณฑ์หนึ่งที่องค์กรหรือหน่วยงานใช้พิจารณาและคัดกรองบุคคลเข้าทำงานในองค์กรนั้นก็คือการมีบุคลิกภาพที่ดีและพร้อมนั้นเอง
ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด ภาควิชาศาสนาและปรัชญาจึงตระหนัก เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 4 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการสมัครงาน อีกทั้งช่วยสร้างโอกาสในการได้เรียนรู้ ปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในทุกมิติร่วมด้วย
– วัตถุประสงค์ –
1. เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสมัครงานของนิสิต
2. เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของนิสิตให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์
– ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ –
สอดคล้องกับ Platform ที่ 1 คือ ยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีสมรรถนะสากล พร้อมทำงานได้ทันที มีทักษะเพื่อการทำงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สอดคล้องกับ KR ที่ 3 คือ ร้อยละของหลักสูตรที่มีการจัดโครงการ/กิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะการทำงานร่วมกัน หรือภาษาต่างประเทศ