กิจกรรม

โครงการเสวนาวิชาการเรื่อง “การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม”

ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 

ได้จัด โครงการเสวนาวิชาการสำหรับนิสิต เรื่อง “การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม”

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมพิบูลสงคราม

โดยมีวิทยากร คือ

อาจารย์ธรรมพร กุศลสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา

– หลักการและเหตุผลในการจัดโครงการ –

         โลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นลักษณะของระบบโลกทุนนิยมที่เติบโตต่อเนื่องมาจากระบบโลกในยุคสมัยใหม่ (Modernity) ปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะเชิงโครงสร้างของโลกาภิวัตน์บางอย่างมีผลกระทบต่อประสบการณ์ ชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก กล่าวคือ โลกาภิวัตน์ได้ปฏิวัติระบบการสื่อสารมาเป็นโลกยุคดิจิทัลซึ่งทำให้โลกกระชับหรือแคบลงทั้งในมิติเชิงเวลาและพื้นที่ (Compressed Space and Time) อีกทั้งช่วยเปิดโลกจินตนาการของมนุษย์ให้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการหมุนเวียนข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ทำให้เราเกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับ “ตำแหน่งแห่งที่” (Position) ของเราในระบบโลก ตลอดจนเกิดชุมชนออนไลน์แบบใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม เป็นต้น
          จากความซับซ้อนของบริบทโลกาภิวัตน์สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของโลกปัจจุบันที่แปรเปลี่ยน เคลื่อนไหว เกิดปฏิสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่มากมายและรวดเร็ว อีกทั้งยังบ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของการสื่อสารในกลุ่มคนต่างวัฒนธรรมที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ขยายความให้ชัดขึ้นได้ว่า ทักษะหนึ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับโลกปัจจุบัน ก็คือ ทักษะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม (Cross-cultural communication) นั่นเอง 
          การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงและการเคลื่อนย้ายของข้อมูล ความคิด และความรู้สึกระหว่างบุคคลหลากหลายวัฒนธรรม ซึ่งการสื่อสารลักษณะนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ภาษา บริบททางวัฒนธรรม การปรับตัว รวมถึงการเปิดใจและยอมรับความแตกต่าง องค์ประกอบเบื้องต้นเหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ส่วนตน คือ ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ในแง่ส่วนรวม คือ ช่วยส่งเสริมความเข้าใจในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความขัดแย้งและสร้าง/รักษาความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร รวมถึงสนับสนุน/ส่งเสริมความเข้าใจอันนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนช่วยเพิ่มโอกาสในทางธุรกิจร่วมด้วย
          จากที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถสรุปได้ว่า การสื่อสารข้ามวัฒนธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ กล่าวได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล องค์กร และประเทศ ทำให้เกิดความเข้าใจ ความร่วมมือ และการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพในทุกด้านและทุกระดับ ด้วยเหตุนี้ ภาควิชาศาสนาและปรัชญา จึงตระหนักและเห็นความสำคัญในการจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม” เพื่อเตรียม
ความพร้อมสำหรับการทำงานและยกระดับสมรรถนะของนิสิตในด้านความรู้ ก่อเกิดเป็นความเข้าใจและสามารถจัดการ กับธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยน ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ ขัดแย้ง และไม่เสมอภาคอยู่บ่อยครั้งในบริบทของโลกปัจจุบันได้

– วัตถุประสงค์ –

1. เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม

2. เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมสำหรับการทำงาน

3. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างบุคคลต่างวัฒนธรรม

– ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ –

สอดคล้องกับ Platform ที่ 1 คือ HUSO Smart Education การพัฒนาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สู่สากล

สอดคล้องกับ กลยุทธ์ ที่ 4 คือ การพัฒนานิสิตให้มีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ทักษะด้านภาษารวมทั้งสร้างศักยภาพและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ