กิจกรรม

โครงการสร้างเครือข่ายสำหรับนิสิตศาสนาและปรัชญากับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทย

ภาควิชาศาสนาและปรัชญา ร่วมกับวิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
จัดโครงการ “สร้างเครือข่ายสำหรับนิสิตศาสนาและปรัชญากับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทย”

ในวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 
ในรูปแบบ Online ผ่าน Google Meet

หลักการและเหตุผล
    ปัจจุบันในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านศาสนาและปรัชญาเป็นจำนวนมากในหลากหลายพื้นที่ ทั้งนี้ เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในด้านศาสนาและปรัชญา โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตให้เป็นผู้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข ใช้ความรู้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถใช้องค์ความรู้ทางศาสนาและปรัชญา ในการปฏิบัติงานและแก้ปัญหาทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมุ่งเน้นของหลักสูตรเพื่อพัฒนาบัณฑิตในกรอบแนวคิดดังกล่าวได้ ล้วนต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเกื้อกูล อาทิ ความเชี่ยวชาญของผู้สอน ทรัพยากรการเรียนรู้ นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายสำหรับนิสิตศาสนาและปรัชญาระหว่างสถาบันจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มีความสำคัญยิ่งเช่นกัน
    โครงการสร้างเครือข่ายสำหรับนิสิตศาสนาและปรัชญา มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้มีการติดต่อ สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และการร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์ นิสิตและนักศึกษาที่ศึกษาเรียนรู้ในสาขาวิชาดังกล่าว ภาควิชาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ริเริ่มจัดทำ โครงการสร้างเครือข่ายสำหรับนิสิตศาสนาและปรัชญากับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายของการผลิตบัณฑิตตามที่หลักสูตรกำหนด ทั้งนี้ การสร้างเครือข่ายการประสานงานเป็นการจุดประกายความคิด ให้เกิดการประสานงาน การออกแบบกิจกรรมสานสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตบัณฑิตให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายของหลักสูตรที่วางไว้
    ในการนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) คือสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาชั้นสูง ในรูปแบบมหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อถวายแด่คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย มีบทบาทโดดเด่นในการส่งเสริมการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง ของโลก โดยเริ่มจัดการเรียนการสอนด้านพุทธศาสตร์เป็นสาขาแรก แล้วต่อมาได้ขยายการเรียนการสอนไปยังสาขาวิชาปรัชญา และสาขาอื่น ๆ ตามลำดับ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยรัฐที่มีวิทยาเขตอยู่ทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือ วิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช-วิทยาลัย ซึ่งได้จัดให้มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาพระพุทธศาสนาและปรัชญา ด้วยความเชื่อมโยงด้านหลักสูตรการศึกษาดังที่กล่าวมา ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้จัดทำโครงการสร้างเครือข่ายสำหรับนิสิตศาสนาและปรัชญากับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาหลักสูตรและการสอน การบริหารจัดการ การสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนาและการส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน โดยมุ่งหวังให้เกิดการร่วมมือเพื่อพัฒนาบัณฑิตตามกรอบคุณวุฒิที่พึงประสงค์สืบไป

วัตถุประสงค์
1.  เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา
2.  เพื่อให้ได้แนวทางในการพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา
3.  เพื่อให้นิสิตและคณาจารย์ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านรูปแบบการเรียนการสอนระหว่างผู้เรียนและผู้สอนต่างสถาบันการศึกษา

ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

     สอดคล้องกับ Platform ที่ 1 คือ ยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีสมรรถนะสากล พร้อมทำงานได้ทันที มีทักษะเพื่อการทำงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
     สอดคล้องกับ KR ที่ 3 คือ ร้อยละของหลักสูตรที่มีการจัดโครงการ/กิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะการทำงานร่วมกัน หรือภาษาต่างประเทศ

Comments Off on โครงการสร้างเครือข่ายสำหรับนิสิตศาสนาและปรัชญากับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทย