
โครงการเสวนาวิชาการสำหรับนิสิต เรื่อง “คุณธรรมของพลเมืองในสังคมพหุวัฒนธรรม: มุมมองของพุทธศาสนาและอริสโตเติล”
ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ร่วมกับ โครงการวิจัย “คุณธรรมของพลเมืองในสังคมพหุวัฒนธรรม : ภราดรภาพ สิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม (Virtue of Citizens in Multicultural Society: Fraternity, Right, Freedom and Justice) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สก.สว.)
จัดโครงการเสวนาวิชาการสำหรับนิสิต
เรื่อง “คุณธรรมของพลเมืองในสังคมพหุวัฒนธรรม: มุมมองของพุทธศาสนาและอริสโตเติล”
ในวันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2565
ในรูปแบบ Online ผ่าน Zoom Meeting
หลักการและเหตุผล
ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารและการแพร่กระจายของเทคโนโลยีการสื่อสาร ยุคสมัยซึ่งกิจกรรมการสื่อสารสมัยใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องและสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับชีวิตประจำวันของผู้คน กล่าวคือ ข้อมูลข่าวสาร วัฒนธรรม เป็นต้น ถูกส่งผ่านทางการสื่อสารสมัยใหม่ อาทิ สื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ วิสัยสามารถของเทคโนโลยีในรูปแบบดังกล่าวได้ช่วยลดหรือขจัดระยะห่างทั้งทางด้านเวลาและพื้นที่ของเหตุการณ์และสถานที่อย่างมีนัยสำคัญ ลักษณะเหล่านั้นได้ทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักว่า ท่ามกลางความเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีการเคลื่อนย้ายของคนและข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องนั้น วัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มย่อยย่อมมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันโดยไม่ได้มีขอบเขตทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มที่ตายตัว อีกทั้งวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มีพลวัตตลอดเวลา ขณะเดียวกันบุคคลหรือกลุ่มคนหนึ่ง ๆ ก็มีการทับซ้อนของอัตลักษณ์และตัวตนที่มากกว่าหนึ่งอัตลักษณ์อยู่เสมอ นอกจากนี้ภายในกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ยังมีความหลากหลายและซับซ้อน เช่น มีความแตกต่างทางชนชั้นภายในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง มีการเบียดขับแข่งขันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยด้วยกัน รวมทั้งการที่ยังมีกลุ่มคนชายขอบบางกลุ่มที่ยังคงถูกละเลย เช่น คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คนที่ไม่มีศาสนา
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น อาจสรุปได้ว่าเป็นลักษณะของสังคมที่เรียกว่า “สังคมพหุวัฒนธรรม” นั่นเอง ดังนั้น การดำรงอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมทั้งในฐานะพลเมืองในสังคมหนึ่ง ๆ ย่อมต้องเข้าใจและระมัดระวังว่าสังคมพหุวัฒนธรรมจะไม่กลายเป็นแนวคิดที่ครอบจักรวาล เป็นความถูกต้องที่ไม่ถูกตั้งคำถามหรือถูกวิพากษ์และมีนิยามที่ตายตัว เป็นเนื้อเดียว ไม่หลากหลาย ขยายความให้กว้างขึ้นก็คือ จะต้องไม่ผลิตซ้ำอุดมการณ์บางอย่างที่ล้นเกินหรือแข็งตายตัว แต่ต้องนำมาสู่เสรีภาพทางความคิดที่เปิดกว้างต่อความฝันหรือจินตนาการถึงรูปแบบสังคมการเมืองและการพัฒนาที่แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มพึงปรารถนา เช่นนี้แล้ว การแสวงหาคุณธรรมของพลเมืองจากภูมิปัญญาต่าง ๆ โดยเฉพาะศาสนาและปรัชญา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่อยู่เคียงคู่สังคมมาอย่างยาวนาน ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นที่สังคมพหุวัฒนธรรมจะขาดเสียมิได้
ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด ภาควิชาศาสนาและปรัชญา จึงตระหนักและเห็นความสำคัญในการจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “คุณธรรมของพลเมืองในสังคมพหุวัฒนธรรม: มุมมองของพุทธศาสนาและอริสโตเติล” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อเสนอจากงานวิจัย ทั้งนี้ เพื่อยกระดับสมรรถนะของผู้เรียนในด้านความรู้ ความเข้าใจในเรื่องคุณธรรมของพลเมืองในสังคมพหุวัฒนธรรมทั้งในเชิงมโนทัศน์ ระเบียบวิธีวิจัย ข้อเสนอจากงานวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และทั้งในฐานะสมาชิกของรัฐและสมาชิกของสังคม ครอบครัว หรือในฐานะพลเมืองที่มีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม
โดยมีการนำเสนอและอภิปรายงานวิจัยดังนี้
1. งานวิจัยเรื่อง “สภาวะไร้นามในโลกเทคโนโลยีสารสนเทศ” กับแนวคิดเรื่อง “จริยธรรมแบบพลเมืองและความเป็นพลเมือง” ในทัศนะทางการเมืองของอาริสโตเติล
ผู้นำเสนอ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์
ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร
ผู้ให้ความเห็น : อาจารย์ ดร. เอกลักษณ์ ไชยภูมี
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. งานวิจัยเรื่อง “เมตตาธรรมกับความเป็นธรรมในพุทธศาสนา: การตีความแบบอาริสโตเติลและการปรับใช้ในบริบททางสังคมการเมือง”
ผู้นำเสนอ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร
ผู้ให้ความเห็น : ศาสตราจารย์ ดร. วัชระ งามจิตรเจริญ
หลักสูตรปริญญาโทพุทธศาสนาศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. งานวิจัยเรื่อง “การสร้างภราดรภาพในสังคมพหุวัฒนธรรม: มุมมองจากพุทธศาสนา”
ผู้นำเสนอ : ดร.ธนสิทธิ์ ฉัตรสุวรรณ
นักวิชาการ สถาบันพระไตรปิฎกศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ผู้ให้ความเห็น : พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, รศ.ดร.
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องคุณธรรมของพลเมืองในสังคมพหุวัฒนธรรมทั้งในเชิงมโนทัศน์ ระเบียบวิธีวิจัย และข้อเสนอจากงานวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
2. เพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองระหว่างนักวิชาการ นิสิต และผู้สนใจในวงกว้าง
ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สอดคล้องกับ Platform ที่ 1 คือ ยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีสมรรถนะสากล พร้อมทำงานได้ทันที มีทักษะเพื่อการทำงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สอดคล้องกับ KR ที่ 3 คือ ร้อยละของหลักสูตรที่มีการจัดโครงการ/กิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะการทำงานร่วมกัน หรือภาษาต่างประเทศ


You May Also Like

โครงการเตรียมความพร้อมในการทำงานให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 4
14/03/2023
โครงการเสวนาวิชาการเรื่อง “การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม”
27/11/2024